วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การใช้แนวคิดBSCในการประเมินองค์กรสถานศึกษา

การประเมินมีความจำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรเป็นอย่างยิ่ง องค์กรไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินองค์กร เพื่อที่จะนำข้อมูลสารสนเทศที่ได้มาตรวจสอบว่าองค์กรดำเนินการได้ตรงตามเป้า(Target) ที่วางไว้เพียงใด การได้ข้อมูลสารสนเทศจากการประเมิน จะทำให้องค์กรทราบจุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง และนำมาปรับใช้ได้ตรงประเด็น ทำให้องค์กรพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ในปัจจุบัน องค์กรต่าง ๆ ได้มีการตื่นตัวในเรื่องการประเมินองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่หวังผลกำไร เช่น องค์กรทางธุรกิจ สาเหตุที่ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องหันมาสนใจการประเมินองค์กร เนื่องจากเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ในปี 2540 องค์กรทางธุรกิจหลาย ๆ องค์กรเกิดปัญหาด้านการเงิน และในที่สุดองค์กรเหล่านั้นก็ต้องประสบปัญหาถึงขั้นต้องล้มละลาย การเกิดสภาวะวิกฤตดังกล่าว ทำให้องค์กรหันมาสนใจการประเมินมากขึ้น และได้แสวงหาเครื่องมือการประเมินที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการประเมินองค์กรของตนเอง ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และมีการนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง คือ ระบบการประเมินองค์กรแบบ Balance Scorecard(BSC)

เครื่องมือประเมินแบบ BSC พัฒนาโดย ดร. โรเบิร์ต เคปแลน และ ดร.เดวิท นอร์ตัน ซึ่งทั้งสองคนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ โดยในช่วงเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ บุคคลทั้งสอง ได้สำรวจการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ พบว่า องค์กรเหล่านั้นมีการประเมินองค์กรโดยมองที่ผลกำไร หรือสถานะทางการเงินแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองด้านอื่น ๆไปพร้อม ๆ กัน จากการสำรวจข้อมูลดังกล่าว ทำให้บุคคลทั้งสองพัฒนาระบบการประเมินผลองค์กรขึ้น เรียกว่า Balance Scorecard โดยกำหนดมุมมองในการประเมิน 4 มุมมอง คือ มุมมองด้านการเงิน(Financial Perspective) มุมมองด้านลูกค้า(Customer Perspective) มุมมองด้านกระบวนการภายใน(Internal Process Perspective)และมุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนา(Learning and Growth Perspective)

ในประเทศไทย มีองค์กรทางธุกิจหลายองค์กรนำระบบBalance Scorecard เข้ามาใช้ และประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน เช่น ธนาคารกสิกรไทย เซเว่น อีเลฟเว่น ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชินวัตคอร์ปอร์เรชั่น เป็นต้น ในภาคราชการได้เริ่มมีการนำระบบBSCมาใช้ เมื่อประมาณ พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพัฒนาระบบราชการ เพื่อให้องค์กรภาครัฐก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัต สามารถแข่งขันกับอานารยะประเทศได้ ในการพัฒนาระบบราชการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือก.พ.ร. ได้ให้บริษัททรีส เป็นผู้วางกรอบการประเมิน และเป็นผู้ดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรภาครัฐ ในการดังกล่าว บริษัททรีสนำกรอบแนวคิดของ BSC มาใช้ในการประเมิน และให้องค์กรภาครัฐต่าง ๆ จัดทำคำรับรองผลการปฎิบัติงานโดยใช้กรอบดังกล่าว

ในด้านการศึกษา มีองค์กรทางการศึกษาหลายองค์กรนำหลักการBSCมาใช้ในการประเมิน เช่น มหาวิทยาลัยสยาม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักประสานงานการศึกษาท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยแต่ละองค์กรได้ปรับเปลี่ยนชื่อมุมมองต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของตนเอง แต่จะอยู่ภายในกรอบแนวคิดตามรูปแบบเดิมที่ ดร.ดรเบิร์ต เคปแลน ฯ พัฒนาขึ้น

ในระดับหน่วยงานปฎิบัติ เช่น โรงเรียน ควรที่จะนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับหน่วยงานต้นสังกัด โดยเฉพาะรูปแบบการประเมินดังกล่าว เป็นรูปแบบการประเมินที่มีความสมดุลในด้านต่าง ๆ และเหมาะสมกับการพัฒนาระบบราชการแนวใหม่ ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐในทุกระดับปฎิบัติงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน(Result base Management:RBM) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตฉบับที่ 9 และผู้เขียนเองกำลังดำเนินการวิจัยประเมินผลการดำเนินงานโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองทุ่งสง โดยใช้แนวคิด Balance Scorecard โดยประเมินการดำเนินงานของโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองทุ่งสง ตามแผนพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น ระยะ 3 ปี
(พ.ศ. 2549-2551) ซึ่งแผนพัฒนาฯดังกล่าวได้เสร็จสิ้นแล้ว

อ้างอิง
1. แผนพัฒนาการศึกษาท้องถิ่นระยะ 3 ปี(พ.ศ.2549-2551)
2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9
3. พสุ เดชรินทร์ Balance Scorecard และ KPI
4. ถิระ ถาวรบุตร ระบบการจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
5. คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร) คำรับรองการปฎิบัติราชการ
'......................................................................................................................................................................

กลยุทธ์ในการบริหารงานสมัยใหม่ และได้รับความนิยมไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ที่ผู้บริหารขององค์กรมองเห็นภาพขององค์กรชัดเจนได้รับรู้ถึงจุดอ่อน ของการบริหารงาน ทั้งจะช่วยในการจัดการองค์กรโดยดูจากผลของการวัดได้จากทุกมุมมอง เพื่อให้เกิดดุลยภาพในทุก ๆ ด้าน มากกว่าที่จะใช้มุมมองด้านการเงินเพียงด้านเดียว อย่างที่องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่คำนึงถึง เช่น รายได้ กำไรผลตอบแทนจากเงินปันผล และราคาหุ้นในตลาด อีกทั้ง ยังเป็นระบบการบริหารงานและประเมินผลทั่วทั้งองค์กร ไม่ใช่เฉพาะเป็นระบบการวัดผลเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ (vision) และแผนกลยุทธ์ (strategic plan) แล้วแปลผลลงไปสู่ทุกจุดขององค์กรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายงานและแต่ละคน เป็นการจัดหาแนวทางแก้ไขและปรับปรุงการดำเนินงาน โดยพิจารณาจากผลที่เกิดขึ้นของกระบวนการทำงานภายในองค์กร และผลกระทบจากลูกค้าภายนอกองค์กร นำมาปรับปรุงสร้างกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพดีและประสิทธิผลดียิ่งขึ้น เมื่อองค์กรได้ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบ กลยุทธ์ที่มีความนิยมภายใต้ชื่อว่า Balanced Scorecard ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ขององค์กรจากระบบ “การทำงานตามคำสั่งหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้สืบทอดกันมา (academic exercise)” ไปสู่ระบบ “การร่วม
ใจเป็นหนึ่งเดียวขององค์กร”

Balanced Scorecard (BSC) ได้ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 1990 โดย Drs. Robert Kaplan จาก Harvard Business School และ David Norton จาก Balanced Scorecard Collaborative โดยตั้งชื่อระบบนี้ว่า “Balanced Scorecard” ซึ่งเป็นเครื่องมือเทคนิคที่ช่วยการจัดการองค์กรในการประเมินผล และวัดผลการปฏิบัติงานขององค์กร(Paul Arveson, 1998) ซึ่งแต่เดิม การประเมินผลการปฏิบัติงานองค์กรมักเน้นการวัดผลการปฏิบัติงานด้านการเงินเพียงด้านเดียว แต่ BSC จะช่วยเพิ่มมุมมองด้านอื่นเพิ่มขึ้น เป็นต้นว่า มุมมองด้านลูกค้า มุมมอง ด้านกระบวนการภายใน และมุมมองด้านการเรียนรู้ และการพัฒนาขององค์กร นอกจากนั้น BSC ยังเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติได้ และทำให้แนวคิดในการประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยใช้ BSC ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา โดยแนวคิดประเด็นหลักๆ ที่นักวิชาการผู้พัฒนา BSC ได้เสนอไว้ คือ การประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยใช้มุมมองใหม่ในการประเมินผลองค์กรซึ่งประกอบด้วยมุมมอง 4 ด้าน และมุมมองแต่ละด้าน จะมีตัวชี้วัดที่สำคัญ หรือ Key Performance Indicators (KPI) เป็นชุด ที่มีความสัมพันธ์กันคือ

1. มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) เป็นมุมมองที่มีความสำคัญที่จะบอกถึงผลประกอบการขององค์กรได้ ว่าเป็นอย่างไร มุมมองด้านการเงินมีตัวอย่างของตัวชี้วัด หรือ KPI เช่น การ
เพิ่มขึ้นของกำไรการเพิ่มขึ้นของรายได้หรือยอดขายและการลดลงของต้นทุน

2. มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective) เป็นมุมมองที่จะตอบคำถามว่าลูกค้ามองเราอย่างไร มีตัวอย่างตัวชี้วัด KPI เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า ส่วนแบ่งตลาด การรักษาลูกค้าเก่า การ
เพิ่มขึ้นของลูกค้าใหม่และกำไรต่อลูกค้าเป็นต้น

3. มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal Process Perspective) เป็นมุมมองที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการจัดการองค์กรสามารถนำเสนอคุณค่าที่ลูกค้าต้องการได้ มีตัวอย่างตัวชี้วัด KPI เช่น ผลิตภาพ (Productivity) หรือประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร กระบวนการขนส่งภายใน การเก็บรักษา และวงจรเวลา (Cycle Time)

4. มุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Growth Perspective) เป็นมุมมองที่ผู้บริหารจะให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กร มีตัวอย่างตัวชี้วัด เช่น ความพึงพอใจของพนักงานทัศนคติของพนักงานและอัตราการเข้าออกของพนักงาน

อ้างอิง : ความรู้ของระบบบริหารจัดการคุณภาพ BSC http://pirun.ku.ac.th/~fedupns/eport_sample/supansa/efiles/attach/QC.doc


.....................................................................................................................................................
การนำ BSC มาใช้ในระบบราชการคาดว่าได้นำต้นแบบในการระบุกลุ่มตัวชี้วัดมาจากตัวอย่างบทความในหนังสือของ Dr. Kaplan และ Dr. Norton โดยดัดแปลงกลุ่มตัวชี้วัด ทั้ง 4 ด้านจากภาคเอกมากำหนดเป็นกลุ่มตัวชี้วัดในภาคราชการ คือ ด้านการเงิน ด้านผู้เกี่ยวข้องภายนอก ด้านผู้เกี่ยวข้องภายใน และด้านนวัตกรรม ซึ่งตัวชี้วัดในแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อยอีกหลายตัว เช่น

- ด้านการเงิน วัดจากจำนวนงบประมาณที่สามารถประหยัดได้ และจำนวนบุคลากรที่ลดลงจากกรอบอัตรากำลัง เป็นต้น

- ด้านผู้เกี่ยวข้องภายนอก วัดจากความรวดเร็วในการให้บริการกับผู้มาติดต่อราชการ และระดับความพึงพอใจของผู้มาติดต่อราชการ เป็นต้น

- ด้านผู้เกี่ยวข้องภายใน วัดจากความสำเร็จของการลดขั้นตอนและกระบวนงาน หรือความสำเร็จของการทำพิมพ์เขียวเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ Blueprint for Change เป็นต้น

- - ด้านนวัตกรรม วัดจากจำนวนบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมในรอบปี และความสำเร็จของการบริหารความรู้ของหน่วยงาน หรือ Knowledge Management เป็นต้น

อ้างอิง : สหัสชัย เรียงรุ่งโรจน์ Balance Scorecard กับการปฎิบัติราชการในปัจจุบัน

................................................................
การประเมินผลสัมฤทธิ์ของส่วนราชการ

สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนด “กรอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของส่วนราชการ” เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จและตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก ประกอบด้วย

1. มุมมองด้านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกองค์กร (External Perspective) เป็นการพิจารณาองค์กรจากผู้รับบริการประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียประโยชน์ต่างๆ รัฐบาล หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์พัฒนาเอกชน ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมภายนอกองค์กร ฯลฯ

2. มุมมองด้านองค์ประกอบภายในองค์กร (Internal Perspective) เป็นการพิจารณาย้อน กลับไปที่โครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน ทรัพยากรมนุษย์ ความสามารถหลักขององค์กร วัฒนธรรมและค่านิยม

3. มุมมองด้านนวัตกรรม (Innovation Perspective) เป็นการพิจารณาความสามารถขององค์กรต่อการปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของผู้รับบริการที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต การมองไปในอนาคตว่าองค์กรควรริเริ่มสร้างสรรค์อย่างไร เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งกว่าเดิม

4. มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective) ให้ความสำคัญกับการประหยัดทรัพยากรทางการบริหาร ความคุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ใช้รวมถึงการทุจริตและประพฤติมิชอบที่ปรากฏ

สมพิศ ใช้เฮ็ง(2550)การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Results Based Management – RBM )
http://www.itie.org/eqi/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=8566
..................................................................................

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร) ได้นำแนวคิด Balanced Scorecard (BSC)มาใช้ในการประเมินผลการปฎิบัติราชการและได้มีการประยกต์แนวคิดดังกล่าว ซึ่งในการประเมินผลการปฎืบัติงานภาครัฐ ได้มอบหมาย ให้บริษัท ไทยเรตติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด(ทรีซ)เป็นผู้ประเมิน ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้นำแนวคิด Balanced Scorecard โดยจัดมุมมอง ออกเป็น 4 มุมมอง แต่เรียกเป็นมิติ ดังนี้
1. มิติด้านประสิทธิผลตามพันธกิจ เทียบได้กับมุมมองด้านการเงิน
2. มิติด้านประสิทธิภาพ เทียบได้กับมุมมองด้านกระบวนการภายใน
3. มิติด้านคุณภาพการให้บริการ เทียบได้กับมุมมองด้านลูกค้า
4. มิติด้านการพัฒนาองค์กร เทียบได้กับมุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนา

อ้างอิง : สมชาย ไตรรัตนภิรมย์, 2547 BSCกับการบริหารงานของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ http://www.strategymine.com/1_info/312.html
.................................................................................
การใช้ BSC ในองค์การทางการศึกษา กรณีศึกษา: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการศึกษาของประเทศ ได้มีการนำแนวคิดBalance Scorecard มาใช้ โดยได้แบ่งมุมมอง(Perspective)ด้านการจัดการศึกษาออกเป็น 4 มุมมอง คือ

1.มุมมองด้านนักเรียน(Student) โดยเน้นที่ โอกาสด้านการได้รับบริการการศึกษา การจบหลักสูตร คุณภาพตามหลักสูตร การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

2.มุมมองด้านกระบวนการภายใน(Internal Process)โดยเน้นด้านรูปแบบการจัดการศึกษา เครื่อข่ายที่เข้าร่วม การพัฒนาหลักสูตร เทคนิควิธีการสอน

3.มุมมองด้านการเรียนรู้และเจริญเติบโต(Learning and Growth) โดยเน้นความสามารถของบุคลากรตามมาตรฐานวิชาชีพ ระบบICTเพื่อการบริหาร วัฒนธรรมค่านิยม

4.มุมมองด้านงบประมาณและทรัพยากร(Budget and Resource)โดยเน้นด้านความเพียงพอของทรัพยากรและเหมาะสม การบริหารทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ

อ้างอิง: วีระเดช เชื้อนาม(2546:28-29) เขย่า Balance Scorecard

2 ความคิดเห็น: