วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ปัญหาภายในหน่วยศึกษานิเทศก์เทศบาลเมืองทุ่งสง

ในสภาพปัญหาของหน่วยศึกษานิเทศก์ กองการศึกษาเทศบาลเมืองทุ่งสง แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

1. ด้านปัจจัย เนื่องจากหน่วยงานศึกษานิเทศก์มีศึกษานิเทศก์ จำนวน 2 คน แต่ละคนมีความชำนาญในการนิเทศการสอนเฉพาะวิชาที่ตนเองถนัด
ทำให้การนิเทศในกลุ่มสาระอื่นที่ตนเองไม่ถนัด ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

2. ด้านกระบวนการนิเทศการสอน สภาพปัญหาคือ การพัฒนาศึกษานิเทศก์เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในเทคนิคการนิเทศ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆในด้านการศึกษาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากกระแสการปฎิรูปการศึกษา ทำให้เกิดกระบวนทัศน์ในด้านการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา การสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การประเมินผลตามสภาพจริง การใช้กระบวนการ PDCA ในการจัดกระบวนการเรียนรู้และการบริหารจัดการ และอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในการจัดการศึกษา ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ในด้านครู และผู้บริหาร ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของศึกษานิเทศก์มีการพัฒนาน้อยมาก ส่วนใหญ่ศึกษานิเทศก์จะเป็นผู้ศึกษาหาความรู้เอง ทำให้การพัฒนาของศึกษานิเทศก์ไม่สมดุลกับการพัฒนาบุคลากรด้านอื่น ๆ ทำให้ศึกษานิเทศก์ขาดความมั่นใจ ทำให้ไม่สามารถนิเทศการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่สถานศึกษามีความต้องการให้ศึกษานิเทศก์เข้าไปช่วยเหลือมากขึ้น

3.ด้านบริบทในการทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศึกษานิเทศก์ที่ปฎิบัติหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มักจะได้รับความเชื่อถือจากผู้บริหาร โดยให้ศึกษานิเทศก์ไปทำงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งานในหน้าที่มากขึ้น ทำให้การปฎิบัติหน้าที่ตามภารกิจของศึกษานิเทศก์ น้อยลง ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ ส่งผลต่อการพัฒนางานด้านวิชาการและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
แนวทางในการแก้ไข : การแก้ไขมีแนวทาง ดังนี้

1. การแก้ปัญหาด้านความชำนาญในการนิเทศเฉพาะกลุ่มสาระของศึกษานิเทศก์ แก้ปัญหาโดยการพัฒนาครูที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละกลุ่มสาระมาช่วยในการนิเทศ โดยศึกษานิเทศก์เป็นผู้ให้ความรู้และเทคนิคในการนิเทศให้ครูเหล่านั้น

2. การแก้ปัญหาด้านองค์ความรู้ในการนิเทศตามแนวทางการปฎิรูปการศึกษา สามารถแก้ปัญหาโดยการพัฒนาหน่วยศึกษานิเทศก์ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีการสร้างเครืองข่ายการนิเทศร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และมีการส่งศึกษานิเทศก์เข้ารับการอบรมเชิงปฎิบัติการเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้มากขึ้น จัดทำแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาศึกษานิเทศก์ และกำกับให้มีการนำแผนสู่การปฎิบัติอย่างจริงจัง

3. ด้านการปฎิบัติหน้าที่นอกเหนือจากงานตามภารกิจศึกษานิเทศก์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภารกิจที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดให้
การแก้ปัญหา โดยการสร้างความเข้าใจในความสำคัญของศึกษานิเทศก์ต่อการจัดการศึกษาให้ผู้บริหารเห็นถึงจุดแข็งของศึกษานิเทศก์ และผลเสียที่เกิดขึ้นถ้าศึกษานิเทศก์ไม่ได้ปฎิบัติงานตามหน้าที่อย่างจริงจัง แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานของฝ่ายบริหาร จึงเสนอแนะให้ศึกษานิเทศก์หาบุคคลอิ่นมาทำงานนั้น ๆ แทน โดยศึกษานิเทศก์ยังคงช่วยเหลือกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดในการทำงานที่นอกเหนือจากหน้าที่ดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น